ใครที่ยังไม่มีโอกาสได้สัมผัสความสามารถของถุงลมนิรภัยนับว่าโชคดีมากๆของคนใช้รถยนต์ เพราะถ้าหากได้สัมผัสได้ใช้เมื่อไหร่นั้นหมายความว่า นำมาซึ่งการเกิดอุบัติเหตุ เกิดอันตราย ดังนั้นมาทำความรู้จักการทำงานพร้อมประสิทธิภาพของถุงลมนิรภัยในแต่ละจุดว่าทำงานกันอย่างไร
การทำงานของระบบจะคล้ายๆ กัน คือจะมีเซ็นเซอร์ตรวจจับการชน และส่งสัญญาณไปยังกล่องควบคุมเพื่อสั่งให้ถุงลมพองตัวอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ หากเกิดการชนอย่างรุนแรง ที่สำคัญคือต้องคาดเข็มขัดนิรภัยเพราะจะช่วยรั้งให้เ ราอยู่กับเบาะหากเกิดอุบัติเหตุ ทั้งนี้จะลดอาการบาดเจ็บได้อย่างมาก สมัยนี้ถุงลมมีอยู่ในหลายจุดหลายรูปแบบ และการทำงานที่คล้ายกัน เรามาดูกันว่ามีจุดไหนบ้างและทำงานอย่างไร

ถุงลมด้านหน้า (Front Airbag)
ถ้าหากมีการชนอย่างรุนแรงเซ็นเซอร์จะจับได้ว่ามีแรงปะทะ เกินค่าที่กำหนดถุงลมจะพองตัวภายในเวลา 0.015-0.030 วินาที ในการชนด้านหน้า เข็มขัดนิรภัยจะดึงร่างกายส่วนล่างและส่วนบน ส่วนถุงลมจะช่วยรองรับหน้าอกและศีรษะไม่ให้กระแทกแรง
ถุงลมด้านข้าง (Side Airbag)
จะมีเซ็นเซอร์ลักษณะเดียวกับด้านหน้า การติดตั้งอาจมีอยู่ที่แผงประตูหรือที่ตัวเบาะนั่งก็ ได้ ขึ้นอยู่กับการออกแบบของผู้ผลิตรถยนต์
ม่านถุงลม (Curtain Airbag)
หากเกิดการชนด้านข้างในระดับปานกลางถึงรุนแรง ถุงลมแบบม่านจะพองตัวลงมา พร้อมการดึงกลับของเข็มขัดนิรภัย
ถุงลมป้องกันเข่าและขา (Knee Airbag)
จะซ่อนอยู่ใต้คอนโซลด้านผู้ขับขี่ บริเวณหัวเข่า ใช้ตัวเซ็นเซอร์ตรวจจับแรงกระแทกเดียวกับถุงลมด้านหน้า ประเภทนี้จะช่วยป้องกันขา หัวเข่า เข้าชนคอนโซล ด้านล่างใต้พวงมาลัย รวมทั้งสะโพกและต้นเข่า
ถุงลมที่พื้นใต้เท้า (Carpet Airbag)
ถุงลมชนิดนี้จะช่วยดูดซับแรงที่เท้าจะไปกระแทกกับพื้นและผนังกั้นระหว่างห้องโดยสารและห้องเครื่อง โดยใช้เซ็นเซอร์เดียวกับด้านหน้า (ยังไม่ใช้กันนัก)
ทั้งหมดเป็นเพียงเครื่องมือที่ช่วยลดความรุนแรงจากอุบัติเหตุเท่านั้น การใช้รถยนต์ใช้ถนนอย่างมีสติและระมัดระวังตัวอยู่ตลอดเวลา เช็คสภาพรถสภาพคนจะเป็นการลดการเกิดอุบัติเหตุดีที่สุด